แดง ๒

Syzygium glaucum (King) Chantar. et J. Parn.

ไม้ต้นไม่ผลัดใบ เปลือกนอกสีน้ำตาลแดงหรือสีน้ำตาลคล้ำ กิ่งอ่อนรูปทรงกระบอก เปลือกหลุดล่อนเป็นสะเก็ด ขนาดเล็ก ส่วนที่ยังอ่อนเกลี้ยง ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปขอบขนานแกมรูปใบหอกแคบ รูปใบหอก รูปรี หรือรูป ไข่กลับ เส้นขอบใน ๒ เส้น ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่งและที่ปลายกิ่ง ดอกสีขาว กลีบดอกแต่ละกลีบมีต่อม ๒๐-๔๐ ต่อม ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมแป้นหรือรูปคล้ายทรง กระบอกกว้าง มีกลีบเลี้ยงติดทนที่ปลายผล สุกสีเขียวอ่อน เปลือกผลเป็นตุ่มหูดขรุขระ มีเมล็ดน้อย


     แดงชนิดนี้เป็นไม้ต้นไม่ผลัดใบ สูงได้ถึง ๒๐ ม. เรือนยอดรูปทรงกลม ค่อนข้างแน่นทึบ ลำต้นเปลาตรง เป็นพอนเล็กน้อย เปลือกนอกสีน้ำตาลแดงหรือสีน้ำตาล คล้ำ ค่อนข้างเรียบหรือแตกล่อนเป็นสะเก็ดขนาดเล็กและ หลุดล่อนเป็นแผ่น เปลือกในสีน้ำตาลอ่อน กิ่งอ่อนรูปทรง กระบอก สีน้ำตาล เปลือกหลุดล่อนเป็นสะเก็ดขนาดเล็ก ส่วนที่ยังอ่อนเกลี้ยง
     ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปขอบขนานแกมรูป ใบหอกแคบ รูปใบหอก รูปรี หรือรูปไข่กลับ กว้าง ๒.๑- ๕.๘ ซม. ยาว ๘-๑๔.๔ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม ถึงมน โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างเหนียวคล้าย แผ่นหนัง ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีเขียวอ่อน เรียบ เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นกลางใบเป็นร่องตื้น ๆ ทางด้านบน นูนเด่นทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๑๑-๒๒ เส้น ปลายเส้นโค้งจดกันก่อนถึงขอบใบ เส้นขอบใน ๒ เส้น เห็นไม่ชัด เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. เกลี้ยง ใบแห้งสีน้ำตาลแดง
     ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามซอก ใบใกล้ปลายกิ่งและที่ปลายกิ่ง ยาวได้ถึง ๑๑ ซม. ดอกสีขาว ไร้ก้าน ฐานดอกรูปกรวย ยาว ๕.๓-๗.๗ มม. ก้านดอก เทียมยาว ๒-๔ มม. กลีบเลี้ยง ๔ กลีบ สีเขียว รูปครึ่ง วงกลม ยาว ๑.๑-๒.๒ มม. กลีบดอก ๔ กลีบ รูปเกือบกลม ยาว ๒.๔-๓.๖ มม. บางคล้ายเยื่อ เรียงซ้อนเหลื่อมกัน ในดอกตูม ส่วนโคนค่อนข้างหนา แต่ละกลีบมีต่อม ๒๐- ๔๐ ต่อม เกสรเพศผู้จำนวนมาก แยกเป็นอิสระ เกสรที่ อยู่รอบนอกยาว ๔-๘ มม. ก้านชูอับเรณูรูปเส้นด้าย อับเรณูรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ยาวประมาณ ๐.๕ มม. ติดด้านหลัง ปลายแกนอับเรณูยื่นเป็นต่อม รังไข่อยู่ใต้วง กลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๘-๑๗ เม็ด ก้านยอด เกสรเพศเมียรูปคล้ายเส้นด้าย ยาว ๐.๔-๑.๓ ซม. ยาว ใกล้เคียงกับความยาวของก้านชูอับเรณู ยอดเกสรเพศเมีย เป็นตุ่มขนาดเล็ก
     ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลม แป้นหรือรูปคล้ายทรงกระบอกกว้าง กว้าง ๑-๑.๕ ซม. ยาว ๑.๕-๒.๔ ซม. มีกลีบเลี้ยงติดทนที่ปลายผล สุกสี เขียวอ่อน เปลือกผลเป็นตุ่มหูดขรุขระ มีเมล็ดน้อย
     แดงชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทย ทั่วทุกภาค พบตามที่เปิดโล่ง ยอดเขาและสันเขา ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น และป่าดิบเขา ที่สูง จากระดับทะเล ๕๐๐-๑,๗๐๐ ม. ออกดอกเดือนธันวาคม ถึงกุมภาพันธ์ เป็นผลเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม ใน ต่างประเทศพบที่ประเทศเมียนมาและมาเลเซีย.

 

 

 

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
แดง ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Syzygium glaucum (King) Chantar. et J. Parn.
ชื่อสกุล
Syzygium
คำระบุชนิด
glaucum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- (King)
- Chantar. et J. Parn.
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (King ) ช่วงเวลาคือ (1840-1909)
- Chantar. ช่วงเวลาคือ (1955-)
- J. Parn. ช่วงเวลาคือ (1954-)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายสุคิด เรืองเรื่อ
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานพืช อักษร ด กองวิทยาศาสตร์อนุกรมวิธานพืช อักษร ด. pdf.